ประวัติขนมบัวลอย
เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย หรือ เทศกาลตังโจ่ย คือ วันเปลี่ยนเทศกาลเป็นฤดูหนาว มีลักษณะเป็นวันที่พระอาทิตย์จะส่องแสงสั้นที่สุดหรือวันที่เป็นจุดสูงสุดในฤดูหนาว โดยเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย ถือเป็นเทศกาลสุดท้ายของชาวไทยเชื้อสายจีนในรอบหนึ่งปีปฏิทิน ซึ่งในเทศกาลนี้จะมีการทำขนมบัวลอย หรือ ขนมอี๋ มาไหว้ฟ้าดิน ปึงเถ่ากง ตี่จู๋เอี๊ย (เจ้าที่) เพื่อขอบคุณที่ได้ช่วยให้การดำรงชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถดำรงมาได้อย่างราบรื่นตลอดปีที่ผ่านมา และเพื่อขอพรให้ช่วยคุ้มครองคนในครอบครัวด้วย
สำหรับขนมบัวลอยหรือขนมอี๋ ที่ใช้ในการไหว้จะทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำต้มสุกจนเข้าที่และปั้นเป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ นิยมผสมสีชมพูและสีขาว เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงนำลงไปต้มในน้ำเดือด คล้ายกับการทำบัวลอยน้ำกะทิของคนไทย แต่ขนมอี๋จะใช้น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดงแทนกะทิ ที่สำคัญจะต้องมีขนมอี๋ลูกใหญ่ที่เรียกว่า อีโบ้ ใส่ลงไปในถ้วยขนมอี๋ที่จะไหว้ถ้วยละหนึ่งลูกด้วย
ลักษณะกลมของขนมอี๋ สื่อความหมายถึง ความกลมเกลียวกันของคนในครอบครัว สีแดงและสีชมพู สื่อความหมายถึง ความโชคดี นอกจากนี้ ขนมอี๋ ยังถือเป็นขนมมงคลของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่นิยมทำขึ้นในงานแต่งงานอีกด้วย
ทั้งนี้ตามหลักของปฏิทินจีน เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย จะไม่มีวันที่ระบุอย่างแน่ชัดตายตัว แต่จะตรงกับเดือน 11 ตามปฏิทินจีน หรือเดือนธันวาคม ซึ่งเรียกว่า เกี๋ยวง๊วย แต่ตามปฏิทินทางสุริยคติสากล วันตังโจ่ย จะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคมของทุกปี สำหรับปี 2558 วันไหว้ขนมบัวลอย ตรงกับวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น